ศาลเจ้าที่ของไทย

  ศาลเจ้าที่ของไทย

                            ศาลเจ้าที่ของไทย  ตามความเชื่อของไทยคือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา หรือเทวดาชั้นที่มีความใกล้ชิดเกี่ยวกับมนุษย์ หรือบางความเชื่อได้กล่าวว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษดั้งเดิมที่มีความผูกพันกับแผ่นดินผืนที่นั้น ตามความเชื่อของคนไทย เจ้าที่หรือตายาย จะมีฤทธิ์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดูแล ปกปักรักษาบ้านเรือนและคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความสุข

ศาลเจ้าที่ของไทย

                            โดยลักษณะของศาลเจ้าที่ หรือศาลตายายนี้ มีตั้งแต่แบบสี่เสาและแบบหกเสา มีลักษณะเป็นเรือนไทย หรือเรือนประยุกต์แบบสมัยใหม่ ดังต่อไปนี้

·         ศาลเจ้าที่แบบดั้งเดิม เป็นศาลไม้สี่เสา ทรงไทยโบราณ มีทั้งตัวเรือนเดียวและเรือนคู่

·         ศาลเจ้าที่แบบปูนซีเมนต์     ตัวเรือนไทยทำจากปูนซีเมนต์ มีลวดลายและสีให้เลือกหลากหลาย โดยมีให้เลือกทั้งแบบสี่เสา และหกเสา

·         ศาลเจ้าที่แบบโมเดิร์น ตัวเรือนออกแบบให้เป็นบ้านทรงต่าง ๆ หรือมีลักษณะเช่นเดียวกับตัวบ้านของจริง ตามความเชื่อที่ว่าภพภูมิของเจ้าที่เจ้าทางนั้นจะซ้อนอยู่กับตัวเรือนของจริงที่อยู่อาศัยนั่นเอง

                            ตามความเชื่อ ๆ กันว่าการตั้งศาลเจ้าที่ต้องตั้งให้ถูกตำแหน่ง ถูกทิศทางตามหลักที่ถูกต้องมิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดผลร้ายตามมากับตัวเจ้าของบ้านและสมาชิกผู้อาศัยได้  การตั้งศาลของคนไทยนั้นโดยส่วนมากนิยมตั้งพร้อมกันกับศาลพระภูมิ จึงมักเรียกรวมกันว่า  “ศาลพระภูมิเจ้าที่  โดยการตั้งศาลนั้นไม่ควรตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ห้ามวางศาลหลบมุมหรือมีสิ่งกีดขวางด้านหน้าศาล ไม่วางศาลใต้ห้องน้ำ หรือใต้คาน  ภายในศาลจะประกอบด้วย ตุ๊กตาตายาย (ที่ถือเป็นเจ้าของศาล เจ้าของพื้นที่) ตุ๊กชายบริวาร ได้แก่ชายหญิง ตุ๊กตาช้างม้า นางละครรำ กระถางธูป แจกันใส่ดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน ธูปเทียนทองคำเปลว  โอ่งเงินและโอ่งทอง ผ้าสามสี ส่วนอาหารคาวหวานผลไม้ดอกไม้เครื่องดื่มที่ใช้ในการสักการะ เช่นเดียวกับพระภูมิ

                            นอกจากการสักการะบูชาแล้ว ยังควรที่จะทำความสะอาดศาลอย่างสม่ำเสมอ ตามความเชื่อที่ว่าจะช่วยเปิดทิศทางให้มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในบ้าน และคอยเปลี่ยนน้ำในโอ่งให้เต็มโอ่งทั้งสองตามความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้เงินและทองไม่บกพร่องนั่นเอง